เรื่องราวของเรา

เรื่องราวอันยาวนานกว่า 76 ปี ของเรา

2486
ปีที่ก่อตั้ง
6
ภาควิชา
15000
นิสิตที่จบจากคณะเรา
199
บุคลากร

ความเป็นมาของคณะ

คณะเศรษฐศาสตร์ได้กำหนด ปรัชญา วิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและแผนงานการดำเนินงานของคณะฯ ในปีการศึกษา 2551 คณะฯ ได้มีการพิจารณาทบทวนวิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์ของหน่วยงานใหม่ โดยคณะทำงานจัดทำแผนยุทธศาสตร์คณะฯ ตามประเด็นยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยและของชาติ ตลอดจนสถานการณ์ภายนอกที่เปลี่ยนแปลง

ประวัติความเป็นมา

คณะเศรษฐศาสตร์ ถือกำเนิดขึ้นพร้อมๆ กับการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 และได้รับการพัฒนาปรับเปลี่ยนมาตามสภาวะแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จวบจนกระทั่งปัจจุบัน เป็นเวลา 79 ปี ประวัติความเป็นมาของคณะเศรษฐศาสตร์

สรุปได้สั้นๆ ดังนี้ ในปี พ.ศ. 2481 ได้มีการจัดตั้งวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้นมาภายใต้สังกัดของกระทรวงเกษตราธิการ โดยจัดให้มีการศึกษาตามหลักสูตรอนุปริญญาเกษตรศาสตรบัณฑิต เมื่อจบการศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้วผู้ที่สนใจจะเข้ารับราชการในกรมสหกรณ์จะต้องเข้ารับการอบรมเพิ่มเติมในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรมสหกรณ์เป็นผู้จัดการอบรมดังกล่าว ณ กรมสหกรณ์ การจัดอบรมนี้ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของคณะสหกรณ์ในเวลาต่อมา

2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486

ได้มีพระราชบัญญัติยกฐานะของวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2486 โดยคณะสหกรณ์เป็นหนึ่งในสี่คณะแรกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย คณะเกษตร คณะสหกรณ์ คณะวนศาสตร์ และ คณะประมง มีการศึกษาขั้นอนุปริญญา หลักสูตร 3 ปี เพื่อให้นิสิตที่สำเร็จการศึกษาจากคณะสหกรณ์ออกไปรับราชการในกรมสหกรณ์ โดยมีคุณพระพิจารณ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสหกรณ์เป็นคณบดีคนแรก และอาจารย์ ทนุ ศาตราภัย เป็นเลขานุการคณะฯ คณะสหกรณ์มีสถานที่ตั้งอยู่ที่บริเวณข้างวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ท่าเตียน กรุงเทพมหานคร การศึกษาของคณะสหกรณ์ในสมัยแรกๆ นี้มีแผนกวิชาอยู่ 4 แผนก ด้วยกันคือ

(1) แผนกวิชาเศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์
(2) แผนกวิชาสหกรณ์
(3) แผนกวิชาบัญชี
(4) แผนกวิชานิติศาสตร์

พ.ศ. 2495

ศาสตราจารย์ พันธุม ดิษยมณฑล ย้ายมาจากกรมสหกรณ์มาดำรงตำแหน่งเลขานุการคณะฯ และเลื่อนเป็นรองคณบดีในเวลาต่อมา ได้เสนอใช้หลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี และ 5 ปี โดยได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย และยังคงใช้สถานที่บริเวณกรมสหกรณ์เป็นที่ศึกษาไปพลางก่อน พร้อมทั้งได้มีการเสนอให้เปลี่ยนชื่อจาก คณะสหกรณ์ เป็น คณะเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ เพื่อให้การศึกษากว้างขวางมากขึ้นและเพื่อให้นิสิตมีตลาดที่จะออกไปทำงานได้กว้างขึ้น แต่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นประธาน ก.พ. ในขณะนั้นประสงค์จะเน้นความสำคัญของสหกรณ์จึงใช้ชื่อว่า คณะสหกรณ์และเศรษฐศาสตร์ เมื่อมิถุนายน พ.ศ. 2495 ประกอบด้วย 8 แผนกวิชา คือ

(1) แผนกวิชาสหกรณ์
(2) แผนกวิชาเศรษฐศาสตร์
(3) แผนกวิชาเศรษฐศาสตร์กสิกรรม
(4) แผนกวิชาบัญชี
(5) แผนกวิชานิติศาสตร์
(6) แผนกวิชาภาษาต่างประเทศ
(7) แผนกวิชาสังคมวิทยา
(8) แผนกวิชาเป็ดเตล็ด

จนกระทั่งเดือนพฤษภาคมปี พ.ศ. 2499 จึงได้ย้ายสถานที่ศึกษามาอยู่รวมกันกับคณะอื่นๆ ที่บางเขน กรุงเทพมหานคร และได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ โดยมี คุณพระพิจารณ์พาณิชย์ ดำรงตำแหน่งคณบดีจนถึงปี พ.ศ. 2501 และยังคงดำรงตำแหน่งคณบดีกิตติมศักดิ์ของคณะฯ จนถึงปี พ.ศ. 2506 ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ พันธุม ดิษยมณฑล ได้เข้าดำรงตำแหน่งคณบดีสืบต่อจากคุณพระพิจารณ์พาณิชย์จนถึงปี พ.ส. 2518

ในช่วงที่ยังใช้ชื่อ คณะเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ นั้น ได้มีการปรับปรุงแผนกวิชาต่างๆ เสียใหม่เป็น 6 แผนกวิชา ประกอบด้วย

(1) แผนกวิชาสหกรณ์
(2) แผนกวิชาเศรษฐศาสตร์
(3) แผนกวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร
(4)แผนกวิชาบัญชีและการธุรกิจ
(5) แผนกวิชานิติศาสตร์และสังคมศาาสตร์
(6) แผนกวิชาสถิติ

พ.ศ. 2506

คณะเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ ได้รับงบประมาณจำนวน 3 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างตึกเรียนหลังแรกที่บางเขน เป็นตึก 3 ชั้น และได้ขออนุญาตใช้พระนาม “พิทยาลงกรณ” เป็นชื่อ ได้มีพิธีเปิด”ตึกพิทยาลงกรณ”อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2507 โดย ฯพณฯจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานในพิธี

พ.ศ. 2509

เปลี่ยนชื่ออีกครั้งหนึ่งเป็น คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ เพื่อขยายงานการศึกษาให้เหมาะสมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และให้นิสิตมีโอกาสได้ศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ ได้มากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อตลาดแรงงานในสาขาวิชาชีพที่ขยายตัวตามความเจริญของบ้านเมือง โดยเพิ่มสาขาวิชาอีกหลายแขนงพร้อมทั้งได้มีการจัดแบ่งส่วนราชการใหม่ในปี พ.ศ. 2511 กล่าวคือ ได้มีการปรับปรุงพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้นใหม่ เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีความคล่องตัวในการบริหารการศึกษาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จึงได้เปลี่ยนฐานะของแผนกวิชาต่างๆ ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ซึ่งรวมทั้งแผนกวิชาต่างๆ ภายใต้สังกัดคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจด้วย) ขึ้นเป็นภาควิชาตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2512

โดยคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ ประกอบด้วย 6 ภาควิชาคือ
(1) ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร
(2) ภาควิชาเศรษฐศาสตร์
(3) ภาควิชาสหกรณ์
(4) ภาควิชาบริหารธุรกิจ
(5) ภาควิชาบัญชี
(6) ภาควิชาการตลาด

จนกระทั่งเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2532 ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรได้เปลี่ยนชื่อเป็นภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร

ธันวาคม พ.ศ. 2535

คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ ซึ่งมีจำนวนนิสิตและคณาจารย์เป็นจำนวนมาก มีขนาดใหญ่เป็นที่สองรองจากคณะเกษตร พร้อมกันนั้นความต้องการบุคลากรในสาขาวิชาที่เปิดสอนอยู่ในคณะฯ ได้ขยายตัวทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีการแบ่งส่วนราชการออกเป็น 2 คณะ คือ คณะเศรษฐศาสตร์ และคณะบริหารธุรกิจ

ปัจจุบัน

คณะเศรษฐศาสตร์ประกอบด้วย 3 ภาควิชา คือ

(1) ภาควิชาเศรษฐศาสตร์
(2) ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร
(3) ภาควิชาสหกรณ์

4 หน่วยงานสนับสนุน คือ
(1) สำนักงานเลขานุการคณะฯ
(2) ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์
(3) สถาบันวิชาการด้านสหกรณ์
(4) ศูนย์กิจการนานาชาติ